วันเปิดให้บริการ : วันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา : 08.00น. - 16.00น.

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แล้วแต่ก็ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานได้อีกเช่น อ้วนเกินไปมีน้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย หรือจะเป็นคนที่มีไขมันในเลือดสูง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็สุ่มเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน

เบาหวานมีมากกว่า 1 ชนิด

เบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป โดยโรคเบาหวานจะมีอาการเกิดขึ้นมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง ซึ่งปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจึงอาจมีผลในการทำลายหลอดเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ซึ่งหากจะเปรียบเทียบโรคเบาหวานแบบง่ายๆ ก็คือร่างกายเราเหมือนระบบปั๊มน้ำ และน้ำก็คือเลือด โดยปกติแล้วปั๊มน้ำก็จะทำงานอย่างปกติ แต่หากมีการทำให้น้ำในระบบเกิดความข้นขึ้น ซึ่งก็คือการเติมน้ำตาลลงไปในน้ำจะทำให้น้ำในระบบมีความหนืดขึ้น ปั๊มหรือหัวใจ ก็จะต้องทำงานหนักขึ้น และท่อน้ำหรือหลอดเลือดก็ต้องรับแรงดันที่มากขึ้น จึงทำให้คนที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้นได้

โรคเบาหวานประเภทที่ 1

เป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุมาจาก ความบกพร่องของร่างกายเอง ซึ่งทำให้ตับอ่อนของเราขาดภูมิคุ้มกัน และเมื่อตับอ่อนถูกทำลาย กระบวนการสร้างอินซูลินในธรรมชาติก็จะถูกทำลายไปด้วย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงต้องฉีดอินซูลิน เพื่อไปควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว


โรคเบาหวานประเภทที่ 2

เป็นเบาหวาน ที่จะพบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่ก็มีส่วนเกี่ยวกับ พันธุกรรม น้ำหนักตัวมาก และขาดการออกกำลังกาย มีลูกมาก อีกทั้งวัยที่เพิ่มขึ้น โดยเซลล์ของผู้ป่วยยังมีการสร้างอินซูลินแต่จะทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องมาจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆถูกทำลายไป และบางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว การรักษาอาจใช้ยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อที่จะควบคุมน้ำตาลในเลือด

สัญญาณของโรคเบาหวาน

การที่เราเป็นโรคเบาหวานนั้น หลายคนอาจจะมองว่าจำเป็นต้องมีการตรวจเลือดอย่างเดียวจึงจะรู้ แต่ความจริงคือก่อนการตรวจเจอเบาหวาน มักจะมีอาการของโรคอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เหนื่อย เพลีย เป็นแผลเรื้อรัง ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน หลังเที่ยงคืนลงไป ที่จะมีการตื่นมาปัสสาวะบ่อยครั้งเป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้หากเราสังเกตตัวเอง จะทำให้ทราบได้เร็วมากขึ้น และหาหมอเพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

อาการหลักของโรคเบาหวาน

1 ปัสสาวะบ่อยขึ้น หิวน้ำมากขึ้น หากเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น และหิวน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะตอนกลางคืน จะกระหายน้ำมากกว่าเดิม นี้เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เพราะร่างกายต้องการขับน้ำตาลที่มีอยู่สูงในเลือด ออกมาทางปัสสาวะ
2 น้ำหนักลด น้ำหนักที่ลดผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดก็ได้ โดยเฉพาะเบาหวาน การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้น้ำหนักลดลงอย่างเร็วมาก ประมาณ 5-10 กิโลภายใน 2-3 เดือน
3 บาดแผลหายช้า หากมีแผลที่บริเวณผิวหนัง เช่น มีดบาด การติดเชื้อ หรือรอยฟกช้ำ และแผลหายช้ามาก นั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้แล้วว่า คุณเป็นเบาหวานแล้ว เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงของผู้ป่วยเบาหวาน จะไปขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด
4 หิวบ่อย กินจุบจิบ ถ้าเกิดหิวบ่อยและกินจุบจิบขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณอาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้ เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้ร่างกายต้องการอาหาร เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งสัญญาณเป็นความหิวนั้นเอง
5 อ่อนเพลีย อารมณ์ไม่คงที่ อาการอ่อนเพลีย และอารมณ์ฉุนเฉียว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลต่อการทำงานทุกระบบ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วย

สัญญาณอันตรายอื่นๆ

1 มีอาการอ่อนเพลียง่าย ทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอ และไม่ได้เจ็บป่วย
2 น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
3 ปัสสาวะบ่อยจนผิดปกติ
4 หิวน้ำมากกว่าปกติ
5 มีอาการตาพร่ามัวลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
6 ปวดขา หรือปวดเข่า
7 ผิวหนังแห้ง มีอาการคัน อาจจะคันตามตัว หรือคันบริเวณปากช่องคลอด
8 เป็นฝีตามตัวได้บ่อยๆ
9 มีอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย 10 แผลมักหายช้า ไม่แห้งสนิท หรือไม่ขึ้นสะเก็ดเสียที

สาเหตุของโรคเบาหวาน

เบาหวานเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็คือการรับประทานน้ำตาลและไขมันในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้อินซูลินเกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งอาการป่วยเบาหวานได้ นอกจากนี้ โรคเบาหวานก็ยังมีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้อีกด้วย

1 กรรมพันธุ์

สำหรับผู้ที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นเบาหวานมาก่อน ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากรู้จักดูแลตนเองให้ดี และควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน ของมัน คุณก็จะปลอดภัยจากโรคเบาหวานได้มากขึ้น นอกเสียจากว่าจะเป็นโรคเบาหวานมาอยู่แล้วโดยกำเนิด

2 ความอ้วน

ร้อยละ 80 ของคนที่เป็นโรคอ้วนส่วนใหญ่มักมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานค่อนข้างสูง เนื่องจากไขมันส่วนเกินจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประสิทธิภาพในการจัดการกับน้ำตาลและไขมันต่ำลง และเป็นผลให้เกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด

3 ความผิดปกติของตับอ่อน

เนื่องจากตับอ่อนจะทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลิน ดังนั้นหากตับอ่อนมีการเสื่อมสภาพหรือเกิดความผิดปกติก็ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วย นอกจากนี้ ในคนที่ดื่มเหล้าหรือรับประทานยาที่มีผลต่อตับอ่อนก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานได้สูงอย่างมากทีเดียว

4 อาหารการกิน

เนื่องจากปัจจุบันนั้น วิธีการทานอาหารที่เปลี่ยนไป โดยพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเต็มไปด้วยแป้งและไขมัน อีกทั้งรวมไปถึงเครื่องดื่มแต่ละชนิด ที่มีน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถขจัดให้หมดไปจากร่างกายได้ใน 1 วัน

5 การออกกำลังน้อย

ผู้คนในยุคนี้มีการขยับตัวกันน้อยจนเกินไป จนร่างกายมีประสิทธิภาพในการขจัดน้ำตาลได้น้อย เนื่องจากมีกิจกรรมทางกายน้อยจนเกินไป จึงทำให้น้ำตาลถูกสะสมในเลือดได้ง่าย

เบาหวานขึ้นตา

สาเหตุของเบาหวานขึ้นตาคือการเกิดความปิดปกติ ของหลอดเลือดในดวงตาโป่งพอง จึงทำให้เกิดเลือด และน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือดบริเวณนั้น หากไม่ทำการรักษาจะทำให้จอตาขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากปริมาณน้ำเหลองและเลือดที่ซึมออกมามากเกินไป ปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เซลล์รับรู้ในจอตาพังทลายลดลง ส่งผลให้มองเห็นได้ไม่ชัด

โรคจอตาเสื่อม มักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเรื้อรัง โดยการป้องกันคือการควบคุมการบริโภคน้ำตาลอย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาเป็นระยะๆ การคุมอาหาร การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สามารถช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของโรคนี้ได้

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

การป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคเบาหวานนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เริ่มจากการป้องกันที่ต้นเหตุก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้มากขึ้นแล้ว สำหรับวิธีการป้องกัน คุณสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายๆ ดังนี้

1 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หากไม่อยากให้โรคเบาหวานถามหาก็ควรหมั่นออกกำลังกายประจำ และควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้แป้งและน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ ถูกดึงออกไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งก็จะทำให้ระดับแป้งและน้ำตาลลดลงตามความเหมาะสมไปด้วย

2 ควบคุมน้ำหนักให้คงที่

สำหรับคนที่มีหุ่นดีอยู่แล้วก็ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ต่อไป โดยพยายามอย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากใครที่เป็นโรคอ้วนก็ควรรีบลดน้ำหนักโดยด่วน ทั้งนี้ก็เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% เลยทีเดียว และแน่นอนว่าคุณคงไม่อยากเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น เพราะฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

3 รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือเย็น

เพราะแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าและตอนเย็นนั้น จะอุดมไปด้วยวิตามิน D ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งวิตามินดีไม่เพียงแต่จะบำรุงผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวานอีกด้วย เพราะการขาดวิตามินดีจะทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานได้สูง การเสริมวิตามินดีอย่างเพียงพอ จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้หากออกกำลังกายไปพร้อมๆ กันด้วยก็จะยิ่งดีมาก

4 รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว

ข้าวกล้อง เป็นข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย และที่สำคัญข้าวกล้องยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ดี ดังนั้น จึงควรรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาวทั่วไป หรือจะหุงรวมกับข้าวขาวด้วยก็ได้

5 หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำลายตับให้เสื่อมสภาพลงและเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง ซึ่งเมื่อตับอ่อนเกิดความผิดปกติก็จะทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการสะสมน้ำตาลในร่างกายและในเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก กระทั่งเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

6 รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ทุกส่วนในร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น จึงลดความเสี่ยงเบาหวานได้ดีนั่นเอง แต่ทั้งนี้ควรเน้นเมนูผักผลไม้ให้มากๆ พร้อมทั้งลดคาร์โบไฮเดตจากแป้งและไขมันให้น้อยลง เพราะการได้รับไขมันและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานได้เช่นกัน